เทคโนโลยีขับเคลื่อน Green Logistics ขนส่งลดคาร์บอน เปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน
Geen Logistics หรือ โลจิสติกส์สีเขียว คือ แนวคิดการจัดการกระบวนการในห่วงโซ่อุปทานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ ขนส่งวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ มลพิษทางเสียง และลดการปล่อยมลพิษอย่างก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้งหมด ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การจัดการโลจิสติกส์อย่างยั่งยืนในยุค 2024 ที่ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ไม่ควรมองข้าม
ตัวอย่างเช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เละบรรจุภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมต่อการเคลื่อนย้าย การขนส่ง และการจัดเก็บ การเลือกรูปแบบการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งที่เหมาะสม การลดการบรรทุกที่ไม่เต็มพาหนะและการวิ่งเที่ยวเปล่า การจัดสินค้าขึ้นรถและใช้เส้นทางในการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการขับรถอย่างปลอดภัยและการทำ Ecodriving เพื่อช่วยลดต้นทุนรวมของการขนส่ง
Green Logistics แนวทางการจัดการโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน แก่อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์
จากรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานในปี 2565 ของสำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงพลังงาน พบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 32 และเนื่องด้วยเกือบจะทุกธุรกิจจำเป็นต้องพึ่งพาระบบโลจิสติกส์ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวคิดกรีนโลจิสติกส์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาต่อระบบนิเวศวิทยาให้ดีขึ้น ภายใต้การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมการดำเนินงาน ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคธุรกิจ เช่น การลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประหยัดพลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาครัฐหรือนานาชาติกำหนดไว้เป็นข้อจำกัดทางการค้าสำหรับภาคธุรกิจ
การใช้เทคโนโลยีไอที ลดคาร์บอนในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์
โดยหลักแล้ว การบริหารการขนส่งและโลจิสติกส์จะมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพและการลดต้นทุน การใช้เทคโนโลยีไอทีในปัจจุบันนอกจากจะสามารถสนับสนุนทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนทางการขนส่งแล้ว ยังนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ดังตัวอย่าง
ระบบบริหารจัดการการขนส่ง (TMS) เป็นเทคโนโลยีสำหรับการจัดการทั้งกระบวนการงานขนส่ง มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่ง พร้อมประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการขนส่ง เช่น การวางแผนการจัดเที่ยววิ่ง เส้นทาง และลำดับจุดส่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลง การจัดสรรการใช้รถบรรทุกขนส่งและการจัดสินค้าขึ้นรถเพื่อให้คุ้มกับการเดินทางทั้งไปและกลับ และการใช้ข้อมูลประวัติงานขนส่งในการบำรุงรักษารถเพื่อลดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จากความเสื่อมสภาพของเครื่องยนต์
เทเลเมติกส์ เป็นเทคโนโลยีสำหรับติดตามการใช้งานรถบรรทุกขนส่งแบบเรียลไทม์ ด้วยการใช้อุปกรณ์เซนเซอร์ ทำให้ผู้ดูแลงานขนส่งได้รับข้อมูลค่าพิกัดตำแหน่งรถ ความเร็วในระหว่างขับขี่ พฤติกรรมการขับขี่ ปริมาณการใช้น้ำมันในการวิ่งรถ และการใช้งานเครื่องยนต์ เช่น รอบเครื่องยนต์ อุณหภูมิเครื่องยนต์และน้ำมันเครื่อง รวมถึงการใช้อุปกรณ์กล้อง MDVR หรือ All In One สำหรับเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการขับรถแก่คนขับเพื่อป้องกันความปลอดภัยระหว่างการขับขี่ เช่น แจ้งเตือนความเร็ว การเปลี่ยนเลนกะทันหัน การขับรถระยะกระชั้นชิด การละสายตาจากพวงมาลัย เป็นต้น
การใช้เทคโนโลยีเทเลเมติกส์นอกจากจะช่วยรักษาความปลอดภัยในการขับขี่แล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ ลดต้นทุนที่เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เหมาะสม และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่น การลดความเร็วในเส้นทางที่มีการจำกัดความเร็วหรือในพื้นที่ชุมชนเพื่อลดมลพิษทางเสียง การประหยัดน้ำมันและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากการใช้รถอย่างถูกต้อง
ระบบการบริหารงานบำรุงรักษารถ (MMS) เป็นเทคโนโลยีระบบจัดการงานซ่อมบำรุงรถขนส่ง ทั้งสำหรับการเตรียมตัวแก่คนขับรถที่หน้างาน ด้วยการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนส่งข้อมูลออนไลน์เรียลไทม์ เพื่อทำเช็คลิสต์สำหรับตรวจสอบสภาพรถ อุปกรณ์ และความพร้อมของพนักงานขับรถก่อนและหลังวิ่งงาน โดยส่งแจ้งซ่อมได้ทันทีหากพบปัญหา และมีระบบหลังบ้านด้วย Web Application สำหรับฝ่ายบริหารงานบำรุงรักษา ซึ่งสามารถตรวจสอบและอนุมัติการแจ้งซ่อม วางแผนกำหนดเวลาการซ่อมบำรุงรถที่เหมาะสม ส่งนัดหมายเมื่อถึงกำหนดเวลาตรวจเช็คสภาพ หรือ ซ่อม และจัดเก็บข้อมูลประวัติการซ่อมแซม การบำรุงรักษา และการตรวจสอบสภาพรถ เมื่อการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงรถเป็นไปด้วยดี รถบรรทุกขนส่งสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่งแก่ธุรกิจ ทั้งการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ส่วนอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ยังสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนเพื่อลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและละการปล่อยคาร์บอนได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีตรวจเช็คอุณหภูมิของตู้ขนส่งสินค้าเพื่อลดการเน่าเสียของสินค้าระหว่างการขนส่ง การจัดการคิวรถที่เข้า–ออกหน้าคลังสินค้าเพื่อลดการจอดรอระหว่างการเข้าคลังสินค้าเป็นเวลานาน เป็นต้น