4 ประโยชน์ของการบริหารธุรกิจขนส่ง ด้วยแนวคิด ESG
ปัจจุบันมีข้อมูลของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์หลายแห่งชี้ว่า ผลตอบแทนในระยะยาวสำหรับการลงทุนในบริษัทที่มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ESG จะมีความยั่งยืน และสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่แสวงผลกำไรเท่านั้น ดังนั้น บริษัทที่สามารถระบุปัจจัย ESG ที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน
ESG คืออะไร
ESG คือ การดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน (Sustainability) โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญแก่ 3 ปัจจัย ได้แก่
- การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environmental)เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างของเสีย การปล่อยมลพิษ
- ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social)เช่น ความเป็นอยู่และค่าตอบแทนของพนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า และชุมชนท้องถิ่น
- การกำกับดูแลกิจการโดยใช้หลักธรรมาภิบาล (Governance) เช่น การบริหารด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
เมื่อโลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก จึงเชื่อว่า แนวคิด ESG จะเป็นทางออกที่ช่วยยกระดับของโลกใบนี้ให้ดีขึ้นในทุกมิติ และช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจได้ในระยะยาว ด้วยการผลักดันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้ตระหนักและร่วมมือร่วมใจกันให้ความสนใจและคำนึงถึงหลัก ESG ในการดำเนินธุรกิจ และการตัดสินใจเลือกใช้สินค้าและบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการทำงานขององค์กร เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกที่ดียิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ESG ยังเป็นตัวชี้วัดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุนต่อธุรกิจ ซึ่งหลักเกณฑ์การประเมินจะใช้ดัชนีแตกต่างกันไปตามสำนักผู้ประเมินแต่ละแห่ง
แนวคิด ESG สำคัญอย่างไร ต่อกลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์
กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีผลกระทบสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อการสร้างสรรค์ที่ดีขึ้น เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้รถไฟฟ้า ซึ่งเป็นเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน
การพัฒนาปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานขององค์กรตามแนวคิด ESG นอกจากจะช่วยเสริมความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยยกระดับประสิทธิภาพ ผลกำไร ความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนแก่องค์กร
4 ประโยชน์ของการบริหารธุรกิจขนส่งด้วยแนวคิด ESG
ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความโปร่งใสทางธุรกิจ
การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จะทำให้มีข้อมูลชัดเจนว่าองค์กรได้ดำเนินงานที่มีส่วนต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารองค์กรอย่างไร ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและการตรวจสอบการทำงานได้ อีกทั้งยังเห็นช่องว่างที่จะพัฒนาปรับปรุง จึงสามารถวางแผนและพัฒนากลยุทธ์ขององค์กรสำหรับอนาคต
การนำเอาเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ สามารถเปลี่ยนสิ่งที่องค์กรธุรกิจมองไม่เห็น ให้มองเห็นได้ชัดเจน เช่น Transportation Management System (TMS) ระบบบริหารจัดการงานขนส่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิ่งรถและลดการใช้น้ำมัน ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยี Telematics ที่ใช้ติดตามการขับรถและความปลอดภัยในการขับขี่ ซึ่งจะจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำมันและพฤติกรรมการขับรถ นำมาวิเคราะห์และสรุปผลข้อมูลที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ว่าใช้น้ำมันในแต่ละเที่ยววิ่งมากน้อยเท่าไร และมีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมันที่มากกว่าปกติ เช่น การขับรถออกนอกเส้นทาง หรือพฤติกรรมการขับรถที่ไม่เหมาะสม เช่น ขับเร็วเกินกำหนด เร่งกระชาก ฯลฯ
ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
การเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงาน เช่น การวางแผนเส้นทางขนส่ง และการจัดสรรทรัพยากรขนส่ง เพื่อให้ใช้รถขนส่งบรรทุกสินค้าได้เต็มประสิทธิภาพ ล้วนเป็นวิธีการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ทั้งสิ้น เช่น การใช้ความสามารถจาก Route and Resource Optimization วิเคราะห์เส้นทางการขนส่งและลำดับการจัดส่งสินค้าที่จะประหยัดน้ำมันมากที่สุด หรือจัดการใบงานขนส่งในแต่ละเที่ยววิ่งได้คุ้มค่าที่สุด ไม่วิ่งรถเที่ยวเปล่าหรือใช้รถไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่งให้ดีขึ้นด้วย
เพิ่มผลกำไร และความน่าเชื่อถือ
การบริหารจัดการงานขนส่งที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ลดลง ทำให้ธุรกิจได้รับผลประกอบการและผลกำไรที่มากขึ้น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจในสายตาของคู่ค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า หรือนักลงทุน รวมถึงการให้ผลตอบแทนที่ดีแก่พนักงานทำให้เกิดความสุขและทำงานเต็มประสิทธิภาพ
สร้างจุดขาย และความได้เปรียบในการแข่งขัน
จากที่ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการโดยคำนึงถึงความยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อธุรกิจดำเนินการด้วยหลัก ESG และแสดงปัจจัยชี้วัดที่ลดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมช่วยดึงดูดลูกค้า คู่ค้า รวมถึงนักลงทุนได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับแนวคิด Green Logistics ที่ปัจจุบันธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์นำมาใช้ในการบริหารจัดการงานขนส่งเพื่อลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การปรับใช้แนวคิด ESG จะช่วยเพิ่มความก้าวหน้าและความยั่งยืนแก่องค์กรด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอกธุรกิจ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับธุรกิจอื่น ๆ ได้ต่อไป