Seamless Integration เทคโนโลยีเชื่อมต่อระบบ TMS, ERP และ WMS กุญแจสำคัญเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการซัพพลายเชน
Supply Chain Management – SCM การจัดการซัพพลายเชน หรือ ห่วงโซ่อุปทาน เป็นการจัดการกระบวนการของสินค้าและบริการครอบคลุมตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บ การกระจายสินค้า การขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค หลายองค์กรปรับตัวใช้การบริหารจัดการด้วยแนวคิด SCM เพื่อให้สามารถควบคุมและเชื่อมโยงข้อมูลและการสื่อสารจากบริษัทต่าง ๆ ภายในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะให้สามารถลดต้นทุนส่วนเกินและส่งมอบสินค้าได้รวดเร็วขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับการดำเนินงานและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด
3 เทคโนโลยีสำคัญ สำหรับการจัดการซัพพลายเชน
การจัดการซัพพลายเชนให้สามารถดำเนินงานประสานกันได้อย่างคล่องตัว จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบในการจัดการ เพราะข้อมูลการดำเนินงานกระจายอยู่ในทุก ๆ กระบวนการ ระบบสารสนเทศจะช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรวมของระบบได้ทั้งหมด ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการซัพพลายเชน ประกอบด้วย 3 ระบบหลักที่มีบทบาทความสำคัญแตกต่างกัน
- ระบบจัดการและวางแผนทรัพยากร (Enterprise Resource Planning – ERP) ใช้จัดการการบัญชีและการออกใบแจ้งหนี้ การจัดการคำสั่งซื้อ และการจัดการสินค้าคงคลัง
- ระบบจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System – WMS) ใช้จัดการคำสั่งซื้อ จัดส่ง และรับสินค้าในคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้า ติดตามข้อมูลสินค้าคงคลัง และอัปเดตข้อมูลสินค้าคงคลังไปยังระบบ ERP
- ระบบการบริหารจัดการการขนส่ง (Transportation Management System – TMS) ใช้จัดการการขนส่ง เช่น ค้นหาและเปรียบเทียบราคาและบริการของผู้ให้บริการขนส่งที่มีเพื่อจัดส่งคำสั่งซื้อของลูกค้า จองการจัดส่ง และติดตามความเคลื่อนไหวจนถึงการจัดส่งเสร็จสิ้น และสรุปต้นทุนที่เกิดจากการขนส่ง
การจัดการขนส่ง หัวใจสำคัญของการจัดการซัพพลายเชน
Transportation Management System – TMS เป็นระบบที่ใช้บริหารจัดการการขนส่ง ทำให้การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบหรือสินค้าตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางเป็นไปอย่างราบรื่น จึงมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับระบบ ERP และ WMS
โดยพื้นฐานแล้ว TMS จะจัดเก็บข้อมูลผู้ให้บริการขนส่ง เพื่อใช้ในการคัดเลือกผู้ให้บริการและยานพาหนะอย่างเหมาะสม โดยจะต้องเชื่อมต่อระบบหรือนำเข้าข้อมูลของผู้ให้บริการขนส่ง ทำให้ TMS เป็นระบบที่สามารถวางแผนงานขนส่งและเส้นทางวิ่งรถ ตรวจสอบและควบคุมการดำเนินการ ติดตามการจัดส่งสินค้า พร้อมจัดเก็บและจัดการข้อมูลการทำงานทั้งหมด
TMS อาจจะเป็นโมดูลหนึ่งภายในระบบ ERP หรือ อาจจะแยกเป็นซอฟต์แวร์แบบ stand alone ก็ได้ แต่จะทำงานเชื่อมต่อกัน โดยจะมีคำสั่งซื้อจาก ERP หรือ โปรแกรมจัดการคำสั่งซื้อมาที่ TMS เพื่อจัดการการขนส่ง และ TMS ยังสามารถทำงานร่วมกับระบบ WMS โดยประสานงานในส่วนของการรับสินค้าจากคลังสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ลูกค้าให้รวดเร็วมากที่สุด
ดังนั้น ระบบ ERP, WMS และ TMS จึงต้องทำงานสัมพันธ์และเชื่อมต่อกัน เพื่อการจัดการซัพพลายเชนตลอดกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
Seamless Integration เชื่อมโยงไร้รอยต่อ เพื่อการจัดการซัพพลายเชน
เมื่อระบบ ERP, WMS และ TMS จำเป็นต้องรับ-ส่งข้อมูลระหว่างกัน ดังนั้น การจัดการระบบให้สามารถสื่อสารข้อมูลกันได้อย่างราบรื่นและอัพเดทมากที่สุดจึงยิ่งมีความสำคัญ
Seamless Integration คือ เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อแพลตฟอร์ม ระบบ หรือแอปพลิเคชันที่ต่างกันให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวกราบรื่น โดยมีองค์ประกอบของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยฮารด์แวร์ ซอฟต์แวร์ เน็ตเวิร์ก และข้อมูล ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่สนับสนุนการบูรณาการระบบได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยี Could Computing ทำให้รับและส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังสามารถส่งต่อข้อมูลระหว่างระบบได้ง่ายด้วยเทคโนโลยี API ช่วยบูรณาการระบบและจัดการข้อมูลแบบ end-to-end เช่น เชื่อมต่อการจัดการคำสั่งซื้อของลูกค้าระหว่าง ERP, WMS และ TMS และใช้ข้อมูลเพื่อดำเนินการในแต่ละระบบ เป็นต้น
ประโยชน์ของ Seamless Integration
- Improved Operational Efficiency ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ลดความซ้ำซ้อนการนำเข้าข้อมูลและลดความผิดพลาดจากข้อมูลที่ไม่ตรงกัน
- Enhanced Data Security จัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ลดความเสี่ยงข้อมูลสูญหาย
- Increased Agility and Flexibility มีความยืดหยุ่นในการเพิ่มหรือลดโมดูลของระบบ
- Cost Reduction ลดค่าใช้จ่ายการจัดการข้อมูลและการบำรุงรักษาระบบ
- Better Customer Experience ปรับปรุงกระบวนการให้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น เพิ่มความพึงพอใจแก่ลูกค้า
Seamless Integration จึงเป็นกุญแจสำคัญของการจัดการซัพพลายเชนระหว่างระบบหลักทั้ง 3 ระบบ คือ ERP, WMS และ TMS และเป็นเทคโนโลยีการบูรณาการระบบนิเวศทางธุรกิจระหว่างองค์กรธุรกิจ ซัพพลายเออร์ ลูกค้า และผู้เกี่ยวข้อง เท่าที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลกัน ทำให้มีข้อมูลที่โปร่งใส ต่อเนื่อง ติดตามได้แบบเรียลไทม์ ทำให้แต่ละองค์กรสามารถติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องและดำเนินงานได้อย่างราบรื่น