นอสตร้า โลจิสติกส์ เผยตลาดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 15-20% จัดเป็นธุรกิจดาวรุ่งยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมประกาศเดินเกมรุก ลุยสมรภูมิโลจิสติกส์ มุ่งเป้าหมายผู้นำตลาด IoT Logistics ส่ง NOSTRA LOGISTICS Analytics Platform และ Telematics Solution ตอบรับตลาดขาขึ้น เป็นผลิตภัณฑ์เรือธงพร้อมเสริมทัพด้วย GPS Tracking ผลักดันธุรกิจขนส่งสู่ “สมาร์ท โลจิสติกส์” ชูจุดขาย 3S SAFTY เพิ่มความปลอดภัย SAVING ลดการใช้ทรัพยากร และ SATISFACTION สร้างความพึงพอใจสูงสุด เผยภาพรวมสถานการณ์แนวโน้มตลาดขนส่งและโลจิสติกส์ในไตรมาส 4 เป็นไปในทิศทางที่ดีต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการขนส่งจ่อคิวติดตั้งอุปกรณ์ เทเลเมติกส์เชื่อมต่อกับระบบจีพีเอสติดตาม ทั้งกล้องวิดีโอออนไลน์แบบเคลื่อนที่ หรือ MDVR และกล้อง DMS เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ และช่วยลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ปลื้มผลประกอบการตลอดไตรมาส 3 เติบโต มั่นใจปิดไตรมาส 4 ตามเป้า เติบโต 50% จากปีก่อน
นางวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด เปิดเผยว่าสถานการณ์การขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยที่ 2 การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และปัจจัยที่ 3 การส่งออกที่ขยายตัวอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศไทยขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงปีละ 15-20% จัดเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีอัตราการเติบโตสูงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล บริษัทฯ ได้มองเห็นโอกาสและวางกลยุทธ์ทางการตลาดเปิดเกมรุก ด้วย NOSTRA LOGISTICS Analytics Platform และ Telematics Solution เป็นผลิตภัณฑ์เรือธง พร้อมด้วย GPS Tracking เพื่อมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจขนส่ง ที่มองหาระบบการจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่ทรงประสิทธิภาพในยุคแห่งการแข่งขันที่เข้มข้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจขนส่ง คือ ความเร็วในการจัดส่งสินค้า การส่งมอบสินค้าตรงเวลา สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พนักงานให้บริการอย่างมืออาชีพ และผู้รับสินค้ามีความพึงพอใจ
ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด โดยผู้ประกอบการได้เร่งปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ และโมบายแอพพลิเคชันเรียลไทม์ เข้ามาปรับใช้ในการให้บริการ โลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่กับการเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้า อย่างไรก็ดีแม้ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์จะเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีการเติบโตสูง แต่ก็จัดได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาพตลาดการแข่งขันที่รุนแรง ดังเช่นปัญหาใหญ่ 3 ประการ
1. การเข้ามาชิงพื้นที่ตลาดของกลุ่มทุนโลจิสติกส์ต่างชาติ ซึ่งมีความพร้อมทั้งต้นทุนและเครือข่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สินค้าออนไลน์ e-commerce ฯลฯ
2. ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนการขนส่งที่สูง เช่น ค่าเชื้อเพลิง หรือ การวิ่งรถเที่ยวเปล่า ที่ทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้รถ
3. การปรับตัวด้วยเทคโนโลยี และการพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์เรือธงที่ต่อยอดจากระบบ GPS Tracking เพื่อตอบสนองความต้องการตลาด 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
1. NOSTRA LOGISTICS Analytics Platform เป็นการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการขนส่งและ โลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงทุกข้อมูลการขนส่งเข้าสู่ระบบดิจิทัล และผสานเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้ง GPS, Telematics, IoT (Internet of Things) และ Big Data Analytics จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจขนส่ง ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลติดตามการขนส่ง ที่มาจากแหล่งข้อมูลหรือแพลตฟอร์มระบบ GPS Tracking ที่ต่างกัน อาทิ ข้อมูลพิกัดรถ ระยะทาง ระยะเวลา ความเร็วในการขับรถ พฤติกรรมการขับขี่และข้อมูลอื่น ๆ ที่มาจากอุปกรณ์เทเลเมติกส์ โดยรวบรวมและนำเข้าสู่ NOSTRA LOGISTICS Analytics Platform แล้วประมวลผลและนำเสนอภาพรวมข้อมูลจากรถขนส่งทั้งหมดเพื่อประกอบการทำงานในระดับโอเปอเรชั่น รวมถึงการวิเคราะห์และให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้บริหารจัดการ Fleet เช่น รายงานภาพรวมการจัดส่งสินค้าตามแผนงาน รายงานประเมินคะแนนพฤติกรรมผู้ขับขี่ ฯลฯ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และช่วยตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้นด้วยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยลดปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูลขนส่งให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย ลดข้อจำกัดในการเลือกใช้ระบบติดตามการขนส่ง ลดความยุ่งยากและเวลาในการจัดการข้อมูลต่างระบบ และเพิ่มศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาการขาดข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจที่ถูกต้องสำหรับธุรกิจ
2. Telematics Solution เพิ่มขีดความสามารถให้เหนือกว่าระบบ GPS Tracking ทั่วไป ด้วยการใช้ IoT (Internet of Things) เชื่อมต่อและสื่อสารกับกล่องจีพีเอสและอุปกรณ์เทเลเมติกส์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งบนรถ โดยนอกจากข้อมูลการติดตามรถแล้ว เทเลเมติกส์จะเน้นเรื่องการตรวจสอบและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายในระหว่างการขับขี่เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน โดยสามารถแจ้งเตือนคนขับและผู้ควบคุมงานขนส่งได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังเก็บข้อมูลของระบบเครื่องยนต์ในการใช้รถตามการใช้งานจริง เช่น น้ำมัน ระยะทาง เพื่อประเมินสภาพรถขนส่งและวางแผนการบำรุงรักษารถ รวมทั้งแสดงรายงานผลในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับสรุปผลการวิ่งงานขนส่ง พร้อมรายงานประเมินคะแนนพฤติกรรมผู้ขับขี่ ด้วยเทเลเมติกส์โซลูชันจะเพิ่มความปลอดภัยตลอดทริปขนส่ง บริหารการใช้รถขนส่งได้มีประสิทธิภาพ และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์ธุรกิจขนส่งที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถ เสริมความปลอดภัย และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
“นอสตร้า โลจิสติกส์ มีจุดแข็งอยู่ที่ประสบการณ์ในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศไทยมากกว่า 15 ปี โดยมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็น Professional IoT Logistics Solutions System Integrator ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างและให้บริการโซลูชันด้วยเทคโนโลยี IoT Logistics จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ระบบ NOSTRA LOGISTICS ให้เป็น Total Transportation and Logistics System ที่มีฟังก์ชันเพื่องานขนส่งแบบครบวงจร ได้แก่ Fleet Tracking & monitoring, Fleet management, Shipment management, Resource optimization และ Safety management และโซลูชัน ที่พัฒนาอย่างเฉพาะเจาะจงให้กับธุรกิจของลูกค้าเพื่อตอบโจทย์การทำงานที่แตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ โดยจะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบของ NOSTRA LOGISTICS ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผนวกกับการออกแบบโซลูชันแบบพร้อมใช้งาน หรือ “Ready to use solutions” นางวรินทร กล่าวเสริม
นางวรินทร กล่าวต่อว่า นอสตร้า โลจิสติกส์ จะเดินหน้าธุรกิจด้วย จุดขาย 3S เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน ประกอบด้วย SAFETY สร้างความปลอดภัยให้แก่ชีวิต สินค้า และทรัพย์สินการขนส่งให้แก่ธุรกิจ SAVING ธุรกิจสามารถประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายขนส่ง และน้ำมัน และ SATISFACTION ธุรกิจและลูกค้าของธุรกิจมีความพึงพอใจจากการนำเสนอบริการขนส่งที่มีมาตรฐานการบริการที่มีคุณภาพ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการนำเสนอโปรดักส์และโซลูชันที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์
สำหรับภาพรวมสถานการณ์และแนวโน้มตลาดโลจิสติกส์ในไตรมาส 4 เป็นไปในทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยอยู่ในระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์เทเลเมติกส์เชื่อมต่อกับระบบจีพีเอสติดตาม ทั้งกล้องวิดีโอออนไลน์แบบเคลื่อนที่ หรือ MDVR และกล้อง DMS เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ และช่วยลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนส่งทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่หลายโครงการ เป็นผลให้ผลประกอบการตลอด ไตรมาส 3 เติบโต มั่นใจปิดไตรมาส 4 ตามเป้า เติบโตเพิ่มรวม 50% จากปีที่ผ่านมา นางวรินทร กล่าวทิ้งท้าย