รู้จักแนวทางการคำนวณ Carbon Footprint ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างตรงจุด
กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตื่นตัวถึงปัญหาและเริ่มมีแนวทางหรือมาตรการเพื่อบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน โดยมี Carbon Footprint เป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการดำเนินงานขององค์กร ทำให้สามารถวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายให้องค์กรจากการลดการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คืออะไร
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คือ ปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ (Greenhouse gas emissions and removals) หากปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint for Product) หรือ ปล่อยจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization)
ก๊าซเรือนกระจก (GHG) มีทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O), ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs), เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs), ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ชนิดนี้ จะถูกวัดและรายงานผลในรูปของตันหรือกิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tonCO2 eq หรือ kgCO2 eq) เป็นการเปรียบเทียบค่าก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ด้วยค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเมื่อเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
มาตรฐานการประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท (Carbon Emission Types) ดังนี้
ประเภท 1: กิจกรรมการทางตรงจากการดำเนินงานขององค์กร (Direct Emissions)
ประเภท 2: กิจกรรมการทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions)
ประเภท 3: กิจกรรมการทางอ้อมอื่นๆ (Other Indirect Emissions)
การกำหนด Carbon Emission ทั้ง 3 ประเภท ช่วยให้แต่ละองค์กรเห็นภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานธุรกิจ ทำให้ประเมินและระบุกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด แล้วจัดเรียงความสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม อีกทั้งสามารถติดตามประสิทธิภาพในกระบวนการลดการปล่อยก๊าซได้ง่ายขึ้น
เข้าใจแนวทางการประเมินค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
เมื่อองค์กรรวบรวมและเก็บข้อมูลจากกิจกรรมต่าง ๆ และคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจะทำให้องค์กรสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดกระบวนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ และสามารถจำแนกสาเหตุและแหล่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ และนำไปสู่การหามาตรการหรือแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
แนวทางเบื้องต้นสำหรับองค์กรในการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก
- ระบุกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรตามขอบเขต Carbon Emission ทั้ง 3 ประเภท
- วิเคราะห์แหล่งปล่อยและแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาจากกิจกรรมหลักในแต่ละหน่วยงานและแยกตามประเภท เช่น
3. เลือกวิธีการการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ทั้งนี้ การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำได้หลายวิธีหรือโมเดล ในทีนี้ขอยกตัวอย่าง การคำนวณโดยใช้ข้อมูลกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรคูณกับค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อ้างอิงสมการและค่า Emission Factor ของ CFO มาจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (ดูข้อมูล Emission Factor ได้ที่ คลิก)
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก = ข้อมูลกิจกรรม x ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) คือ ปริมาณการใช้พลังงานหรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซออกมา เช่น ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ที่นับออกมาเป็นหน่วยของการใช้งาน
ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก* (Emission Factor) คือ ค่าที่แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วย
*ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและเทคโนโลยีของแหล่งปล่อยก๊าซในแต่ละประเทศ บางประเทศอาจมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเงื่อนไขเฉพาะของกิจกรรมนั้น ๆ เรียกว่า ค่าการปล่อยเฉพาะของประเทศ (Country specific emission factor) ซึ่งได้มาจากการตรวจวัดจริงหรือการทดลอง หรือ หากไม่มีสามารถอ้างอิงได้จาก 2006 IPCC Guidelines for National Greenhouse Gas Inventories
4.เก็บรวบรวมข้อมูลกิจกรรมที่มีการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาจากข้อมูลที่จะต้องใช้ในการคำนวณและแหล่งอ้างอิงค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเลือกช่วงเวลาของการเก็บข้อมูลและช่วงความถี่ เช่น 1 ปีปฏิทินหรือปีงบประมาณ
5. คำนวณค่าการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรแยกตามประเภท โดยองค์กรจะต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและสามารถบอกถึงที่มาของการคำนวณและแหล่งอ้างอิงค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
องค์กรธุรกิจสามารถจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเพื่อแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจก และใช้แนวทางการประเมินค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ CFObyTGO) เพื่อตรวจสอบกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม และบริหารจัดการพร้อมกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนแก่สังคมและโลกอย่างยั่งยืน
โปรดติดตามการประเมินค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมการเดินทางและการขนส่งในตอนต่อไป